การดูแลน้ำฉีดกระจก และ น้ำกลั่นแบตเตอรี
คราวนี้จะเป็นสองจุดสุดท้ายสำหรับบทความในชุดการดูแลรถยนต์เบื้องต้นด้วยตัวเองนะครับ เรื่องแรกเป็นเรื่องของน้ำที่ใช้ฉีดกระจก ฟังดูอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่า น้ำฉีดล้างกระจกจะช่วยให้ทัศนวิสัยในการขับรถดีขึ้น โดยเฉพาะในการขับรถทางไกล หรือ ขับรถในช่วงกลางคืน และฝนตก ในบางสถานการณ์กระจกหน้ารถอาจเกิดความสกปรกโดยไม่คาดคิดได้ เช่น มีนกท้องเสียบินผ่าน หรือฝูงแมลงที่บินมาปะทะกระจกรถ เพราะฉะนั้นมาดูกันเสียหน่อยว่า เราจะตรวจสอบน้ำฉีดกระจกหน้ารถนี้อย่างไร
ความจริงแล้วง่ายมาก ถ้าน้ำขาดก็เติม แต่ที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ คือ ลืม ปล่อยจนหมดเสียมากกว่านั่นแหละครับ เมื่อเติมน้ำบางท่านผสมแชมพูลงไปด้วย แต่หากเป็นได้ เติมน้ำยาทำความสะอาดกระจกลงไปสักเล็กน้อยด้วยก็ดี เพราะจะทำความสะอาดได้ดีกว่าน้ำเปล่า
นอกจากตรวจระดับน้ำแล้ว ให้ดูด้วยว่าถังน้ำอยู่ในสภาพไหน รั่วหรือไม่ วิธีตรวจสอบคือ เติมน้ำให้เต็มถัง ทิ้งไว้สักพักแล้วกลับมาตรวจใหม่อีกครั้งว่าระดับน้ำพร่องลงไหม ถ้าไม่พร่องให้ลองฉีดน้ำล้างกระจกดู
นอกจากถังที่ใส่น้ำแล้ว สายยางที่ส่งน้ำก็อาจจะฉีกขาด หรือ หลุด ได้ วิธีตรวจคือ มองไล่มาตามสายยางตั้งแต่จุดที่น้ำออกมาจากถัง ผ่านมอเตอร์ปั๊มน้ำซึ่งอยู่ติดกับถังน้ำ ไปจนถึงหัวฉีด ซึ่งหากพบจุดที่ชำรุดเสียหายก็ทำการซ่องแซมเสีย
อีกปัญหาหนึ่งคือ หัวฉีดน้ำอุดตัน ซึ่งอาจเกิดจากมีฝุ่นละอองเข้าไปอุดในหัวฉีด วิธีการง่ายที่สุด คือ เอาเข็มเย็บผ้านี่แหละครับ หรือ เหล็กแหลมที่มีขนาดเล็กพอที่จะแยงผ่านรูฉีดน้ำเข้าไปได้ เพื่อดันสิ่งที่อุดตันออกมา พร้อมกับการตั้งระดับหัวฉีดให้ได้ระดับพอดี ไม่ต่ำ ไม่สูงเกินไป หากวิธีนี้แก้ไขไม่ได้ ก็ต้องถอดหัวฉีดทั้งหัวออกมาต้มในน้ำ เพื่อให้ความร้อนของน้ำละลายคราบที่อุดตันออกมา
ถ้าแก้ไขที่สามจุดนี้แล้วยังใช้งานไม่ได้ ก็ให้ดูจุดสุดท้าย คือ มอเตอร์ที่ปั๊มน้ำจากถัง โดยเฉพาะถ้ารถของคุณมีหัวฉีดสองตัว และฉีดน้ำไม่ได้ทั้งสองหัว ก็น่าจะชัดว่ามอเตอร์เครื่องปั๊มมีปัญหา ก็คงต้องเสียเงินแล้วล่ะครับ ปั๊มน้ำเสียนี้อาจมาจากถึงอายุขัยของเขาแล้ว หรือจากพฤติกรรมของเราเองก็ได้ เช่น ระดับน้ำในถังต่ำ หรือ หมดแล้ว แต่ยังพยายามฉีดน้ำก็เลยทำให้มอเตอร์ร้อน หรือ ฉีดน้ำครั้งละเกินกว่า 20 วินาที บ่อยๆ เลยทำให้มอเตอร์ร้อนจัด อายุเลยสั้นลงครับ
ต่อไปก็เป็นการตรวจดูน้ำกลั่นในแบตเตอรี ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับแบตเตอรีนี้ได้เคยนำมาแชร์ไว้ละเอียดพอสมควรในบทความก่อนหน้านี้แล้ว คราวนี้ก็เลยจะไม่ลงรายละเอียดมากนะครับ
เมื่อจะทำการชาร์จแบตเตอรีทุกครั้งต้องตรวจดูระดับน้ำกลั่นก่อนเสมอว่าต่ำไปหรือไม่ โดยดูจากลูกลอย ว่าลอยมาถึงระดับไหนโดยระดับที่พอดีนั้นจะต้องมองเห็นแถบสีขาวเล็กน้อย หากสูงเกินไปให้ดูดน้ำกลั่นออก มิเช่นนั้น น้ำกลั่นอาจล้นออกมาในขณะที่ชาร์จไฟได้

หากเป็นแบตเตอรีชนิดที่ไม่มีลูกลอย ให้เปิดฝาจุกแล้วดูว่าน้ำกลั่นในเซลล์แบตเตอรีมีระดับแค่ไหน ระดับที่หมาะสมคือต้องสูงกว่าแผ่นธาตุภายในประมาณ 1 ซ.ม. กะด้วยสายเอาก็ได้นะครับ ไม่ต้องเป๊ะๆ ถ้าระดับต่ำไปก็เติมน้ำกลั่นลงไปให้อยู่ที่ระดับ 1 ซ.ม.และน้ำกลั่นนี้ ใช้น้ำประปา หรือ น้ำดื่มบรรจุขวดทั่วๆ ไปมาเติมไม่ได้นะครับ และในขณะที่ชาร์จจะมีแก๊สเกิดขึ้น จึงไม่ควรให้มีประกายไฟเกิดขึ้นในบริเวณที่ชาร์จแบตเตอรี และควรทำการชาร์จในบริเวณที่ร่ม โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก พอชาร์จเสร็จแล้วก็ปล่อยให้แบตเตอรีเย็นลงก่อนสักประมาณ 1 ช.ม. แล้วค่อยนำมาใช้งาน
ส่วนการดูแลรักษา ควรดูแลให้ขั้วบนฝา และบริเวณรอบๆ สะอาด และแห้งอยู่เสมอ โดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ด เท่านั้นเอง ระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในตัวแบตเตอรีด้วยนะครับ การดูแลทำความสะอาดจะช่วยยืดอายุของแบตเตอรีครับ
ที่มาเนื้อหา และ ภาพ
http://www.srdriving.com/main/content/view/64/54/
http://www.pajerosportmania.com/forum/index.php?topic=4174.20
|